“สมศักดิ์” กำชับ สสจ.-อย. เดินหน้ากวาดล้างสินค้ากัญชาเถื่อน หลังเด็ก 2 ขวบกินเยลลี่ผสมกัญชา ต้องหามส่งโรงพยาบาล ห่วงเยาวชนเข้าถึงง่าย ย้ำใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเด็กหญิงวัย 2 ขวบ 6 เดือน กินเยลลี่หมีผสมกัญชาจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเป็นห่วงมาโดยตลอด เพราะมีข่าวกรณีเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่าย ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
หลังทราบเรื่อง นายสมศักดิ์ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบและกวาดล้างสินค้ากัญชาเถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยย้ำว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจตรวจสอบและดำเนินการกับผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรือสินค้าต่างๆ ที่มีสารสกัดกัญชาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากพบการกระทำผิด สามารถจับกุม ปรับ หรือส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีได้ทันที
สำหรับโทษความผิด หากจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่แสดงฉลากตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากตรวจพบว่าผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือพบสาร THC เกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแล้ว กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายกัญชา ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ โดยร้านค้าที่ไม่มีใบอนุญาตจะถูกดำเนินคดีร่วมกับตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่แม้มีใบอนุญาตแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็อาจถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการบริโภค สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
“ตอนนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ช่วยกันแจ้งเบาะแสเพื่อขจัดปัญหานี้ให้หมดไป สิ่งที่ผมห่วงมากคือ เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอยกข้อมูลจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้สำรวจปัญหาการใช้สารเสพติด พบว่าเฉพาะในปี 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จากเดิม 1-2% ในปี 2563 เป็น 9.7% ดังนั้น เราต้องเดินหน้าให้กัญชาใช้ได้เพื่อการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อลดผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคมโดยรวม” นายสมศักดิ์กล่าว