ธุรกิจในกัมพูชาวิกฤต! ร้านอาหาร-ร้านกาแฟ เจอนมขาดตลาด หลังหยุดนำเข้าจากไทย
การปิดด่านชายแดน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งด้านเขตแดนระหว่างกัมพูชาและไทย ได้นำไปสู่การชะลอการค้าสินค้าหลายรายการระหว่างทั้งสองประเทศ ล่าสุด สำนักข่าวคิริโพสต์ ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษของกัมพูชา รายงานว่า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านอุปทานนม เนื่องจากสินค้าเริ่มขาดตลาด
คิริโพสต์ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2025 นายฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศเพิ่งประกาศแผนผลักดันมูลค่าการค้าร่วมกันให้แตะ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 490,000 ล้านบาท) ภายในปี 2025 ภายใต้กรอบความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 45,300 ล้านบาท) ขณะที่การส่งออกไปไทยอยู่ที่เพียง 395 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12,800 ล้านบาท)
คิริโพสต์ยังชี้ให้เห็นว่า แม้การปิดชายแดนจะส่งผลกระทบกับผู้ค้าและภาคธุรกิจของทั้งสองฝั่ง แต่ในฝั่งกัมพูชานั้น ความขาดแคลนนมกำลังกลายเป็นปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการร้านกาแฟ ร้านอาหาร และธุรกิจที่ใช้นมเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งเริ่มออกมาแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในนั้นคือ Sen Phearoom เจ้าของร้าน Coffee Blue Cup ในกรุงพนมเปญ ที่เปิดร้านมาได้กว่า 6 ปี เขากล่าวว่าปัจจุบันต้องพึ่งพานมจากแหล่งผลิตในประเทศซึ่งมีความไม่แน่นอน บางวันพอใช้ได้ แต่บางวันกลับไม่เพียงพอ
Phearoom ระบุว่าโดยปกติจะใช้นมนำเข้าจากไทย ซึ่งได้มาตรฐานแบบญี่ปุ่น และมีรสชาติที่แตกต่างจากนมที่ผลิตในประเทศเล็กน้อย โดยเฉลี่ยเขาใช้ประมาณวันละ 10 ถึง 12 ลิตร แต่หลังสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างกัมพูชาและไทย เขากลับหาได้น้อยลงมาก บางครั้งได้เพียง 2 ลิตรจากซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่ง ทำให้ต้องเสนอเมนูแบบไม่ใส่นมหรือแนะนำเครื่องดื่มอื่น เช่น อเมริกาโนที่ไม่ใช้นมแทน
คิริโพสต์ยังอ้างข้อมูลจาก Kirisu Farm ซึ่งเป็นฟาร์มนมรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ระบุว่า กัมพูชานำเข้านมสดและนมพาสเจอร์ไรส์รวมมูลค่าประมาณ 42.6 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,380 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้ นำเข้าจากไทยถึง 32.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,053 ล้านบาท) คิดเป็น 76.29% ของนมที่นำเข้าทั้งหมด
Phearoom จึงเรียกร้องให้ผู้ผลิตภายในประเทศเร่งพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่อุปทานให้สามารถรองรับความต้องการในประเทศได้ โดยไม่ต้องพึ่งพานมจากต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจภายใน
Chy Sila ผู้ร่วมก่อตั้ง Kirisu Farm ให้สัมภาษณ์กับคิริโพสต์ว่า ขณะนี้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้นมผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าฟาร์มของเขาดำเนินกิจการมาเพียง 4-5 ปี จึงยังไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการที่สูงถึงวันละ 10,000 ลิตร
เขายังกล่าวด้วยว่า บริษัทมีแผนนำเข้าวัวนมเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังผลิต พร้อมทั้งยกระดับกระบวนการแปรรูปนมจากน้ำนมดิบ โดยยอมรับว่าปัจจุบัน นมที่ผลิตภายในประเทศคิดเป็นเพียง 20% ของปริมาณการบริโภคทั้งหมด
Sila ระบุว่า ความต้องการนมท้องถิ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเกินกว่าปริมาณอุปทานที่มีอยู่ พร้อมเปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปิดชายแดน การนำเข้านมจากเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เขาทิ้งท้ายว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ทำให้ประชาชนตระหนักว่าประเทศไม่ควรพึ่งพาการนำเข้า และควรเร่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในประเทศให้ยั่งยืนและมีความโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม Sila ยอมรับว่า เมื่อใดที่ชายแดนเปิดอีกครั้ง ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะหันกลับไปเลือกใช้นมจากไทย เพราะอุปทานภายในประเทศยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ
ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
รับโค้ดฟรี : PPCU0NUISQV109G
มูลค่า : 0.01 บาท
ระยะเวลา : 17 ก.ค. 2568 14:12 - 17 ก.ค. 2568 16:48
ใส่โค้ดที่ : https://www.adrepay.com/activity/facebook/award
ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
รับโค้ดฟรี : PPCE214J6DCDCYI
มูลค่า : 0.01 บาท
ระยะเวลา : 16 ก.ค. 2568 15:25 - 16 ก.ค. 2568 17:53
ใส่โค้ดที่ : https://www.adrepay.com/activity/facebook/award
ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
รับโค้ดฟรี : PPCKVPP11DVHNSX
มูลค่า : 0.01 บาท
ระยะเวลา : 15 ก.ค. 2568 17:29 - 15 ก.ค. 2568 20:17
ใส่โค้ดที่ : https://www.adrepay.com/activity/facebook/award